ใบความรู้ ๑

ใบความรู้ที่ ๑
เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ

ความหมายของเรียงความ
          เรียงความ  เป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมีจุดประสงค์จะถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ทรรศนะ  ความรู้สึก  ความเข้าใจออกมาเป็นเรื่องราว  ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างชัดเจนและท่วงทำนองการเขียนที่น่าอ่าน

การเลือกเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          หากจะต้องเป็นผู้เลือกเรื่องเอง  ควรเลือกตามความชอบ  หรือความถนัดของตนเอง
การค้นคว้าหาข้อมูลอาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วารสาร อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ


ประเภทของเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          ๑. เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้
          ๒. เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ
          ๓. เรื่องที่เขียนเพื่อโน้มน้าวใจ

องค์ประกอบของเรียงความ
         
เรียงความมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน  คือ  คำนำ  เนื้อเรื่อง  และสรุป  งานเขียนทุกประเภทจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วนนี้  ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดขององค์ประกอบพร้อมกับกลวิธีการเขียนต่อไปนี้
          ๑. คำนำ  เป็นส่วนหนึ่งของเรียงความส่วนแรกที่มีหน้าที่เปิดประเด็นเข้าสู้เรื่อง  เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องอะไร  เพื่อชักนำให้คนสนใจอ่านเนื้อเรื่องต่อไป  คำนำเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของเรียงความเพราะเป็นส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้อ่านหันมาสนใจเรื่องราวที่เขียน  ผู้อ่านจะอ่านเรื่องต่อไปหรือไม่  ก็อยู่ที่คำนำนั้นเอง 
         
          ๒. เนื้อเรื่อง หรือ เนื้อความ  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการเขียนเรียงความ  เพราะเป็นส่วนที่เสนอความรู้ความคิดความเข้าใจทรรศนะหรือความรู้สึกของผู้เขียนให้แจ่มแจ้งโดยอาจจะยกอุทาหรณ์  สุภาษิต  และประสบการณ์ของผู้เขียนมาสนับสนุนเรื่องที่เขียนได้ 
          นักเรียนจะต้องคิดก่อนเป็นขั้นแรกว่า  จะเลือกเขียนเรื่องอะไร  มีวัตถุประสงค์และมีขอบเขตในการเขียนกว้างหรือแคบเพียงใด  เมื่อคิดวางแผนเป็นลำดับดังกล่าวแล้ว  ก็เริ่มเขียนโครงเรื่องเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน
          ขั้นตอนต่อไปคือการเรียงเนื้อหาไปตามโครงเรื่องที่ได้กำหนดไว้  โครงเรื่องที่กำหนดไว้เป็นข้อ ๆ นั้นก็คือเนื้อหาในย่อหน้าหนึ่ง ๆ นั้นเอง  เมื่อจะขยายความแต่ละหัวข้อก็ย่อมจะได้ย่อหน้าที่มีเนื้อหาเป็นเอกภาพและมีน้ำหนัก  และถ้าเขียนแต่ละย่อหน้ามีประโยคใจความสำคัญ  และมีประโยคขยายความที่สนับสนุนประโยคใจความสำคัญอย่างชัดเจนแล้ว  เรียงความเรื่องนั้นก็จะเป็นเรียงความที่มีเนื้อหาสมบูรณ์เรียงความแต่ละเรื่องจะมีย่อหน้าเรื่องเท่าใดก็ได้  แต่เป็นไปไม่ได้ที่เรียงความเรื่องหนึ่งจะมีย่อหน้าเนื้อเรื่องเพียงย่อหน้าเดียว

          ในการเขียนเรียงความนั้น  การใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก  นักเรียนจะต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษา  ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาแบบเป็นทางการ  กล่าวคือภาษาจะถูกต้องตามหลักการเขียน  มีการเลือกสรรถ้อยคำมาเรียบเรียงให้กะทัดรัด  ชัดเจนอ่านเข้าใจง่าย  ราบรื่น  สละสลวย  และมีลีลาการเขียนที่น่าสนใจ 

          ๓. สรุป  เป็นส่วนสุดท้ายของเรียงความที่ผู้เขียนจะเน้นความรู้  ความคิดหลักหรือประเด็นสำคัญของเรื่องที่เขียนอีกครั้งหนึ่ง  การสรุปนับว่ามีส่วนสำคัญเท่ากับคำนำ  เพราะเป็นส่วนช่วยเสริมให้เรียงความมีคุณค่าขึ้น 
         
การวางโครงเรื่องก่อนเขียน
         
เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว  ต้องวางโครงเรื่องโดยคำนึงถึงการจัดการจัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์  ต่อเนื่องกัน  เช่น
          - จัดลำดับหัวข้อตามเวลาที่เกิด
          - จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่
          - จัดลำดับตามความนิยม
          โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน  โครงเรื่องเปรียบเสมือนแปลนบ้าน  ผู้สร้างบ้านจะต้องใช้แปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน  การเขียนโครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เขียนเรียงความเขียนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้  ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่องเรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ


การเขียนย่อหน้า
          การย่อหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง  เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านอ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็ว  มีช่องว่างให้ได้พักสายตา  ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้า  และนำย่อหน้าแต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน  ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ต้องมีสาระเพียงประการเดียว  ถ้าจะขึ้นสาระสำคัญใหม่ให้เขียนในย่อหน้าต่อไป  ดังนั้นการย่อหน้าจะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง  แต่อย่างน้อยเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า  คือย่อหน้าที่เป็นคำนำ  เนื้อเรื่อง  และสรุป

การเชื่อมโยงย่อหน้า
          การเชื่อมโยงย่อหน้าทำให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้าเรียงความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้าการเรียงลำดับย่อหน้าตามความเหมาะสมจะทำให้ข้อความเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน  วิธีการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกันกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่องซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธีคือ
          ๑.  การลำดับย่อหน้าตามเวลาอาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
          ๒.  การลำดับย่อหน้าตามสถานที่เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่หรือตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
          ๓.  การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ  เรียงลำดับตามความสำคัญมากที่สุด  สำคัญรองลงมาไปถึงสำคัญน้อยที่สุด
          ๔.  การลำดับย่อหน้าตามเหตุผล  อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผลหรือผลไปเหตุ

ตัวอย่างรียงความ (แสดงให้เห็นคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปที่ชัดเจน)

                                          เรียงความเรื่อง "วันพ่อแห่งชาติ"
                                                                              โดย นายวุฒิชัย เจาะโพ 
           ชายคนหนึ่งต้องทำงานหนัก  ชายคนหนึ่งต้องตื่นแต่เช้า  ชายคนหนึ่งต้องหาเช้ากินค่ำ  ชายคนหนึ่งต้องตากแดดตากฝน  ชายคนหนึ่งต้องอดมื้อกินมื้อ  ชายคนหนึ่งกินข้าวไม่ค่อยอิ่ม  ชายคนหนึ่งต้องใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ชายคนหนึ่งต้องทำไร่ทำนา  ชายคนหนึ่งที่เคยผ่านอะไรมามากมาย  ชายคนหนึ่งโดนมีดบาดมือเป็นประจำ  ชายคนหนึ่งสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี  ชายคนนั้นอายุมากแล้ว  ชายคนหนึ่งกำลังเฝ้ารอคอยการกลับมาของใครบางคน...ชายคนนั้นก็คือพ่อของผม
           ผมเป็นลูกชาวนาจน ๆ คนหนึ่ง  ในช่วงหน้าฝนนั้นพ่อจะพาผมไปที่ไร่เพื่อดายหญ้า ถางหญ้า ล้อมรั้วรอบ ๆ ไร่  เพื่อไม่ให้วัวควายเข้าไปในไร่  ให้วัวควายเข้าไปเฉพาะในนาเท่านั้น  พ่อของผมท่านไม่ค่อยได้พักผ่อน  เพราะมีงานให้ทำอยู่มากมายพ่อมักจะโดนมีดบาดมืออยู่เสมอ  เพราะท่านเป็นคนที่ขยัน เร่งรีบ และใจร้อน  พ่อของผมท่านต้องทำงานเกือบทุกย่างเพื่อทำหน้าที่ผู้นำครอบครัว  ผมมีพี่น้องอยู่หลายคน  แต่ส่วนใหญ่แล้วแต่งงานกันหมดแล้วต้องสร้างครอบครัวของตนเอง  ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามาดูแลพ่อกับแม่  ส่วนที่เหลือก็กำลังเรียนอยู่ 
           พี่สาวของผมที่กำลังเรียนอยู่นั้นได้กลับบ้านเป็นประจำ  เพราะโรงเรียนอยู่ไม่ค่อยไกลผมเป็นลูกคนสุดท้องไม่ค่อยได้กลับบ้าน  เพราะโรงเรียนของผมนั้นอยู่ห่างไกลจากบ้าน  ทำให้ไม่ค่อยได้อยู่ดูแลพ่อกับแม่  ซึ่งท่านทั้งสองนั้นมีอายุมากแล้วแต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถทำเพื่อท่านได้  นั่นก็คือ  ตั้งใจเรียนสวดมนต์อธิษฐานภาวนาเพื่อท่านให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  พ่อมักจะสอนผมอยู่เสมอว่าต้องตั้งใจเรียน  เรียนให้สูง ๆ จะได้มีงานทำที่ดีไม่ต้องลำบากเหมือนกับท่าน  พ่อสอนสานตะกร้าด้วยไม้ไผ่ทำด้ามมีด  ด้ามจอบ  ด้ามเสียม  ลับมีด  เลื้อยไม้  ตอกตะปู  และอะไรต่าง ๆ ให้ผมมากมาย  พอถึงหน้าฝนพ่อจะสอนให้ผมดำนาเป็น  เกี่ยวข้าวเป็น  ตีข้าวเป็น  ตำข้าวเป็น 
           ในตอนเด็ก ๆ นั้น พ่อผมจะเล่านิทานให้ผมฟังก่อนนอนทุกครั้ง  ตอนนี้ผมยังจำนิทานทุกเรื่องที่พ่อเล่าให้ผมฟังได้อยู่  ตอนนี้พ่อของผมท่านอายุมากแล้วทำให้สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง  พ่อมักจะปวดหลัง
ปวดหัวอยู่เสมอ  ผมจึงนวดหลังให้พ่ออยู่เสมอเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย  เมื่อถึงเวลาเปิดเรียนแล้วนั้น  ผมต้องเดินทางไปเรียนทุกครั้งที่ผมจะไปเรียนนั้น  แม่ของผมท่านจะร้องไห้ทุกครั้งผมต้องปลอบใจแม่ทุกครั้ง ก่อนเดินทางไปเรียนในช่วงเปิดเรียน  ผมเป็นห่วงท่านทั้งสองและคิดถึงท่านทั้งสองเสมอ  เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาตินี้ผมขอให้พ่อมีสุขภาพร่างกายที่สมบรูณ์และอยากบอกพ่อว่า  "ผมรักพ่อ"

เอกสารอ้างอิง
          ประนอม  วิบูลย์พันธ์ และคณะ. ๒๕๕๔.  หลักภาษาและการใช้ภาษาไทย
                      สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.).  กรุงเทพฯ.
          การเขียนเรียงความ. ๒๕๕๖. (ออนไลน์).  สืบคนจาก : http://th.wikipedia.org
                      [๒๕ธันวาคม ๒๕๕๖]



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น